การที่ประชาชนมีสุขภาพดี ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและสังคม โดยนอกจากอาสาสมัครสาธารณสุขเทศบาลเมืองลำพูน ต้องมีบทบาทหน้าที่ในด้านการส่งเสริมป้องกันรักษาและฟื้นฟูสุขภาพแล้ว ประชาชนเริ่มตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนและภาคประชาสังคมต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัวชุมชนของตนเอง และสามารถจัดการการดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและสังคม ให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีและเป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุขได้ เนื่องจากปัจจุบันเกิดปัญหาการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่มีความรุนแรงสูง ทำให้เกิดการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ และเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงมีการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนกับความพร้อมในการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดเชื้อโควิด 19 ของหมู่บ้าน ชุมชน ให้มีกระบวนการจัดการเฝ้าระวัง ป้องกันโรค และการเสริมสร้างสุขภาพในทุกกลุ่มวัย และปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด 19 โดยมีภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาครัฐ เป็นกลไกการจัดการ แสดงบทบาท เสริมพลังร่วมกัน(Synergy) นำไปสู่ ความปลอดภัยจากโควิด 19 หรือในตำบลที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ประชาชนสุขกาย สุขใจ สุขเงิน สุขสามัคคี ด้วยวิถีชีวิตใหม่ (new normal)

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข กองการแพทย์ เทศบาลเมืองลำพูนนายสิริวุฒิ คำธิตา รองนายกเทศมนตรีเมืองลำพูน เป็นประธานเปิดโครงการสนับสนุนการดำเนินงานหมู่บ้านจัดการสุขภาพวิถีใหม่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของแกนนำสุขภาพและประชาชน จากการประเมินผลการดำเนินงานหมู่บ้านจัดการสุขภาพตามแบบบันทึกการประเมินหมู่บ้านจัดการสุขภาพในระบบสารสนเทศ งานสุขภาพภาคประชาชน กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบว่า ร้อยละ 100 ของชุมชนในเขตเทศบาลเมืองลำพูน ผ่านเกณฑ์การดำเนินงานหมู่บ้านจัดการสุขภาพระดับดี แต่บางชุมชนในเขตเทศบาลเมืองลำพูน ยังไม่มีผลงานที่โดดเด่นและต้องการการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นกองการแพทย์   เทศบาลเมืองลำพูน  จึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินงานหมู่บ้านจัดการสุขภาพ (หมู่บ้านวิถีใหม่) ประจำปีงบประมาณ 2564 ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้ชุมชนมีการจัดการระบบที่ดีเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของประชาชนในชุมชน  เหมาะสมกับชุมชนของตนเอง  และเกิดการดูแลสุขภาพด้วยตนเองแบบยั่งยืนสืบเนื่องต่อไป