กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กไทยจมน้ำเสียชีวิตโดยเฉพาะในช่วงวันหยุด แนะผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เข้าใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง เพราะอาจเสี่ยงจมน้ำได้ เด็กเล็ก เน้นใช้มาตรการ “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม” ส่วนการช่วยเหลือคนตกน้ำ ขอให้ใช้มาตรการ “ตะโกน โยน ยื่น”

จากข้อมูลระบบรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ (Drowning Report) ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ในเบื้องต้นของปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-16 มีนาคม 2564 พบเหตุการณ์การตกน้ำ จมน้ำ ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 41 เหตุการณ์ เสียชีวิต 33 ราย และไม่เสียชีวิต 16 ราย โดยกลุ่มอายุ 5-9 ปี เสียชีวิตมากที่สุด (จำนวน 15 ราย) รองลงมา คือ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี (จำนวน 11 ราย) สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการชวนกันไปเล่นน้ำ คิดเป็นร้อยละ 51.1 แหล่งน้ำที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เช่น สระน้ำ บ่อน้ำ หนองน้ำ คลอง อ่างเก็บน้ำ และฝายน้ำ คิดเป็นร้อยละ 71.1 ทั้งนี้ จากข้อมูลในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่าวันเสาร์และวันอาทิตย์ เกิดเหตุมากที่สุด (ร้อยละ 38.2)

การป้องกันการจมน้ำ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ควรใช้มาตรการ “อย่าใกล้ อย่าเก็บ อย่าก้ม”  ดังนี้ 
1.อย่าเข้าใกล้แหล่งน้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงไปในน้ำ 
2.อย่าเก็บสิ่งของที่ตกลงไปในน้ำด้วยตนเอง ต้องให้ผู้ใหญ่ช่วยเก็บ 
3.อย่าก้มหรือชะโงกลงไปในแหล่งน้ำ เพราะอาจหัวทิ่มลงไปในน้ำได้

ส่วนกลุ่มเด็กโต เน้นห้ามการไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง และหากประชาชนพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วยเพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ควรใช้มาตรการ“ตะโกน โยน ยื่น” ดังนี้
1.ตะโกนเรียกขอความช่วยเหลือ 
2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าปิดฝา หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้ และ
3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ
นอกจากนี้  ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเคร่งครัดมาตรการป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำ โดยให้ความรู้เด็กและผู้ปกครองในการป้องกันการจมน้ำ และชุมชนควรร่วมดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยง จัดการแหล่งน้ำให้ปลอดภัย เช่น การสร้างรั้วกั้น ติดตั้งป้ายเตือน และเตรียมอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง เป็นต้น

สำหรับวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1.โทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669 หรือหน่วยพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด 
2.ห้ามจับผู้ประสบภัยอุ้มพาดบ่า กระโดดหรือวิ่งรอบสนาม เพื่อเอาน้ำออก 
3.จับผู้ที่จมน้ำนอนบนพื้นราบแห้ง และแข็ง 
4.ตรวจดูว่ารู้สึกตัวหรือไม่ โดยใช้มือทั้ง 2 ข้างจับไหล่เขย่า พร้อมเรียกดังๆ 
5.กรณีรู้สึกตัว เช็ดตัวให้แห้ง เปลี่ยนเสื้อผ้าและห่มผ้า เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายและนำส่งโรงพยาบาลทุกราย 
6.กรณีไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนอง ให้ช่วยหายใจ โดยเปิดทางเดินหายใจ กดหน้าผาก เชยคาง เป่าปาก โดยวางปากครอบปากผู้ป่วย บีบจมูก เป่าลมเข้า ให้หน้าอกผู้ป่วยยกขึ้น (เป่าปาก 2 ครั้ง) และกดนวดหัวใจ โดยการวางสันมือขนานกับแนวกึ่งกลางหน้าอก (กึ่งกลางหัวนมทั้ง 2 ข้าง) ประสานมือและแขนตั้งฉาก 
7.กดให้ยุบประมาณ 1 ใน 3 ของหน้าอกด้วยความเร็วอย่างน้อย 100 ครั้งต่อนาที นวดหัวใจ 30 ครั้ง สลับกับเป่าปาก 2 ครั้ง ทำจนกว่าผู้ประสบภัยจะรู้สึกตัวและหายใจได้เอง 
8.จับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหน้า เพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น งดน้ำและอาหาร และนำส่งโรงพยาบาลทุกราย สอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค