อย่างที่ทราบกันดีว่าระยะการรักษาตัวของผู้ติดเชื้อ “COVID-19” คือ 14 วัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะไม่หลงเหลืออาการที่แสดงถึงการติดเชื้ออีกแล้ว แต่ในผู้ป่วยบางรายกลับยังมีอาการหลงเหลืออย่างต่อเนื่องนานกว่า 1 เดือน แม้ทำการรักษาตัวครบ 14 วันแล้วก็ตาม อาการดังกล่าวเรียกว่า “Post Covid Syndrome” หรือ “Long COVID”

 Long COVID เป็นอาการเจ็บป่วยที่มีลักษณะคล้ายช่วงที่รักษาตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีโอกาสเกิดกับผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้ว 30-50% ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ร่างกายเกิดภาวะ Long Covid นั่นก็เป็นเพราะ หากมีการติดเชื้อร่างกายจะถูกกัดกร่อนความสมบูรณ์ ทั้งจากการได้รับยาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และจากเชื้อไวรัสที่เข้าทำลายระบบภายในร่างกายโดยในแต่ละรายจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ 

ลักษณะอาการ Long Covid

  • ลิ้นชา หรือ การรับรสชาติอาหารไม่เหมือนเดิม
  • จมูกไม่ได้กลิ่น
  • มีไข้ ไอ หอบเหนื่อย หายใจไม่ทัน
  • เจ็บหน้าอก ปวดตามข้อ กล้ามเนื้อลีบ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ระคายเคืองบริเวณดวงตา และมีน้ำตาไหล
  • มีภาวะสมองล้า เหนื่อยง่าย และร่างกายไม่สดชื่น
  • มีอาการปวดท้อง ท้องร่วง อาหารไม่ย่อย
  • มีอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า
  • นอนไม่หลับ มึนงง ร่างกายไม่สดชื่น
  • สมาธิสั้น ความจำสั้น

กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอาการ Long COVID

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่มีภาวะโรคอ้วน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
  • ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในกลุ่มสีแดง

       อาการ Long Covid คืออาการที่เกิดจากการที่ร่างกายยังไม่สามารถฟื้นฟูตนเองได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ผู้ที่ได้มีการติดเชื้อโควิด-19 แม้ทำการรักษาจนออกจากสถานกักตัวแล้ว ก็ควรตรวจสอบความผิดปกติของร่างกาย และพบแพทย์เพื่อประเมินระดับสุขภาพของตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพและจิตใจที่ดีเหมือนเดิม

ที่มา https://theworldmedicalcenter.com/th/new_site/health_article/detail/?page