ปัญหาฝุ่นละอองจิ๋ว อย่าง ฝุ่น PM 2.5 ก็กลับมาบั่นทอนสุขภาพและการใช้ชีวิตของใครหลายคน ไม่ว่าจะกระตุ้นอาการภูมิแพ้อากาศ คัดจมูกไปจนปวดไมเกรน หรือผดผื่นคันเพราะปัญหาภูมิแพ้ผิวหนัง แล้วแบบนี้เราจะมีวิธีต่อสู่กับ ฝุ่น PM 2.5 ยังไง เพื่อไม่ให้สุขภาพพังซะก่อน

PM 2.5 คืออะไร? เกิดจากอะไร?

         PM2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดย PM ย่อมาจากคำว่า Particulate Matters หรือฝุ่นละออง ส่วนตัวเลข 2.5 คือขนาดของฝุ่นละออง ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หากถามว่า 2.5 ไมครอนนี้เล็กขนาดไหน ก็คงเทียบได้ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผม เรียกได้ว่าเล็กจนขนาดขนจมูกของคนเราซึ่งทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถดักจับฝุ่นเหล่านี้ได้เลย

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5

  • ไฟป่า การเผาขยะ การเผาเพื่อทำการเกษตรในที่โล่ง เช่น การเผาไร่อ้อย เผาวัชพืชต่าง ๆ
  • ควันที่เกิดจากการทำอุตสาหกรรมต่าง ๆ และฝุ่นจากการก่อสร้าง
  • การขนส่งและคมนาคม เช่น ควันจากท่อไอเสีย การเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์
  • การผลิตไฟฟ้า เช่น การเผาปิโตรเลียมและถ่านหิน
  • กิจวัตรต่าง ๆ ของคน เช่น สูบบุหรี่ การจุดธูปเทียน เผากระดาษ การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร

ฝุ่น PM 2.5 อันตรายต่ออาการแพ้

ฝุ่น PM 2.5 สามารถทำให้เกิดการอักเสบใน 2 รูปแบบคือ
  1. อักเสบเฉียบพลัน มีอาการจาม น้ำมูก คัดจมูก แสบตา คันตา น้ำมูกไหล ยิ่งคนที่เป็นหอบหืดจะเหนื่อยขึ้น จากภาวะหลอดลมตีบอักเสบ มีหายใจเสียงหวีด ส่วนคนที่ไม่เคยเป็นหอบหืดมาก่อนหรือคนที่เป็นหอบหืดตอนเด็กหายแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้เพราะความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ที่สูงกระตุ้นให้โรคกลับมาและกระตุ้นให้เป็นโรคใหม่ได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกับภูมิแพ้ผิวหนัง กระตุ้นผื่นภูมิแพ้ผิวหนังและลมพิษได้ด้วย
  2. อักเสบเรื้อรัง มีอาการคัดจมูกมากจนทนไม่ไหว ปวดมาก ปวดซีกเดียว มีมูกสีเหลืองเขียวออกมา การได้กลิ่นลดลง ซึ่งเป็นอาการของโพรงไซนัสอักเสบหรือภูมิแพ้กำเริบรุนแรงได้ นอกจากนี้ที่สำคัญมากการเกิดการอักเสบเรื้อรังในทางเดินหายใจ ทำให้เกิดเซลล์ผิดปกติกลายเป็นมะเร็งต่าง ๆ ในอนาคต อาทิ มะเร็งปอด เป็นต้น

 

ใช้ชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลจาก PM 2.5

  เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ปัญหาเรื่องมาตรการควบคุมก็ดูจะใหญ่เกินไปสำหรับประชาชนธรรมดา ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้ คือการดูแลป้องกันตนเอง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด PM2.5 

  1. ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้าน
  2. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย หรือทำงานหนักนอกบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยหรือผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง ควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น
  3. ดื่มน้ำเปล่าสะอาดมาก ๆ ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกในร่างกายได้
  4. งดสูบบุหรี่ นอกจากจะช่วยลดมลพิษแล้ว ยังทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นอีกด้วยนะคะ
  5. ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่มีสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์
  6. ลดการใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ หันมาใช้ขนส่งสาธารณะ หรือไปกลับทางเดียวกัน ใช้รถคันเดียวกันดีกว่านะคะ
  7. เช็กดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index – AQI) ก่อนออกจากบ้าน หากอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควรเลี่ยงการออกนอกบ้านและทำกิจกรรมกลางแจ้ง
  8. สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน แต่เนื่องจาก PM2.5 มีขนาดที่เล็กมาก หน้ากากอนามัยกระดาษทั่วไป ไม่สามารถดักจับฝุ่นนี้ได้นะคะ จึงจำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยที่มีความหนากว่าปกติ ซึ่งสามารถกรอง PM2.5 ได้เท่านั้น
  9. ล้างจมูกทุกวันอย่างถูกวิธี เพื่อให้โพรงจมูกสะอาด ลดโอกาสการติดเชื้อและการเกิดโรค
  10. ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีแผ่นกรองอากาศ HEPA Filter เพื่อให้การกรองอากาศมีความละเอียดสูงกว่าแผ่นกรองอากาศปกติ สกัดกั้นสารก่อภูมิแพ้ได้ เพราะแม้จะปิดประตูหน้าต่าง ฝุ่น PM 2.5 ก็ยังเล็ดลอดเข้ามาได้
  11. รณรงค์เรื่องลดการเผาไหม้ ทั้งในชีวิตประจำวันอย่างการใช้รถให้น้อยลง การทำอาหารแบบครัวปิด การลดหรืองดการจุดธูป ไปจนถึงการทำการเกษตรและอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์