ในช่วงหน้าฝนนี้หลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ ประชาชนควรระมัดระวังหากไม่ทราบหรือไม่แน่ใจว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่ ไม่ควรเก็บหรือซื้อเห็ดป่ามาปรุงอาหาร หากเป็นเห็ดที่มีพิษ เมื่อรับประทานเข้าไปจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้มีเห็ดป่าขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมีทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดที่มีพิษ ซึ่งเห็ดพิษที่พบส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเห็ดระโงกพิษ เช่น เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดจำพวกนี้จะมีพิษร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต เห็ดบางชนิดคล้ายคลึงกับเห็ดที่รับประทานได้ เช่น เห็ดระโงกขาว หรือไข่ห่าน แต่จะแตกต่างกันคือ เห็ดระโงกพิษจะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นค่อนข้างแรง นอกจากนี้ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงคือ เห็ดเมือกไครเหลือง โดยประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า ซึ่งยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า หากประชาชนไม่ทราบหรือไม่แน่ใจว่าเป็นเห็ดพิษหรือไม่ ก็ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดร่วมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย

อาการหลังรับประทานเห็ดพิษ จะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน การช่วยเหลือในเบื้องต้น คือ ลดการดูดซึม และเร่งขับสารพิษจากร่างกาย โดยการใช้ผงถ่านคาร์บอน จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการรับประทานเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว อาจเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้

 

สำหรับภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนำไปต้มกับข้าวสาร หรือใช้ปูนกินหมากป้ายที่ดอกเห็ด ถ้าเป็นเห็ดพิษจะกลายเป็นสีดำ เป็นต้น วิธีเหล่านี้ ไม่สามารถเชื่อถือได้ เนื่องจากมีการทดสอบแล้วว่าไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้

ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/กองโรคติดต่อทั่วไป  กรมควบคุมโรค